ถนน หน้าพระลาน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
3 Hours
Haft Day
20 persons
Bangkok
Deedeebooking ขอเสนอโปรแกรมท่องเที่ยวใหม่ รูปแบบใหม่ เป็นโปรแกรมทัวร์ท่องเที่ยวครึ่งวัน เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยม ฮอตฮิตมากๆ ของชาวยุโรปและชาวเอเชีย เช่นนักท่องเที่ยวชาวเกาหลี ญี่ปุ่น จีน ในปัจจุบันนี้ โปรแกรมทัวร์นี้ท่องเที่ยวได้ทุกวัย ครบรสทุกการท่องเที่ยว ได้เดินเที่ยวชม นั่งเรือ ถ่ายภาพ ทำคอนเทนใหม่ๆ ที่อิงประวัติศาสตร์ มีประกันการท่องเที่ยวคุ้มครองตลอดโปรแกรมทัวร์ ทำให้ท่านท่องเที่ยวด้วยความอุ่นใจ
มัคคุเทศก์จะเจอกับท่านที่อุโมงค์เข้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
จะพาท่านเข้าเที่ยวชมวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า วัดพระแก้ว เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นพร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2325 เป็นวัดในพระบรมมหาราชวังเช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งเป็นวัดในพระราชวังหลวงในสมัยอยุธยา และมีพระราชประสงค์ให้วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร และเป็นสถานที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ เพราะมีแต่ส่วนพุทธาวาสไม่มีส่วนสังฆาวาส
ภายในวัดพระศรีรัตนศาสดารามมีอาคารสำคัญและอาคารประกอบเป็นจำนวนมาก จึงแบ่งกลุ่มอาคารออกเป็น 3 กลุ่ม ตามตำแหน่งและความสำคัญ ดังนี้ กลุ่มพระอุโบสถ เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญสูงสุด มีพระอุโบสถเป็นอาคารประธานซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ล้อมรอบด้วยศาลาราย พระโพธิธาตุพิมาน หอพระราชพงศานุสรณ์ หอพระราชกรมานุสรณ์ หอระฆัง และหอพระคันธารราษฎร์ นาม
คำว่า "พระศรีรัตนศาสดาราม" เป็นการสมาสสนธิระหว่างคำ คือ "ศรีรัตนศาสดา" กับ "อาราม" โดยคำว่าศรีรัตนศาสดา หมายถึงฉายาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นนามที่ใช้เรียกแทนพระองค์ว่าเป็นศาสดาที่เปรียบเป็นพระผู้ประเสริฐ เป็นศรีรัตน เปรียบได้กับแก้วอันประเสริฐ ซึ่งกล่าวว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเอกแห่งรัตนตรัย ซึ่งคือ แก้ว 3 ประการ ได้แก่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
คำว่า อาราม คือ วัด ดังนั้น "พระศรีรัตนศาสดาราม" หมายถึง วัดสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือพระอารามซึ่งประดิษฐานแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลังจากทุกท่านอิ่มใจอิ่มบุญ ได้กราบพระแก้วมรกตเสร็จ
จากนั้นมัคคุเทศก์จะพาท่านเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง
พระบรมมหาราชวังเป็นพระราชนิเวศน์แห่งแรกในกรุงเทพมหานคร สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในปี พ.ศ. ๒๓๒๕ มูลเหตุแห่งการสร้างเกิดขึ้นเนื่องจาก ทรงเห็นว่ากรุงธนบุรี มีชัยภูมิไม่เหมาะสมเพราะมีลำน้ำผ่านกลางเมือง เรียกว่าเมืองอกแตก เมืองลักษณะนี้ข้าศึกสามารถรุกรานได้ง่าย สาเหตุอีกประการหนึ่งเนื่องจาก พระราชวังกรุงธนบุรี มีวัดขนาบ ๒ ด้าน คือวัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม) และวัดท้ายตลาด (วัดโมลีโลกยาราม) ทำให้ไม่สามารถขยายพระราชวังให้ยิ่งใหญ่เหมือนพระราชวังเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาได้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองหลวงจากกรุงธนบุรี ซึ่งอยู่ฝากฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยามายังฝั่งตะวันออก ซึ่งสถานที่แห่งนี้เดิมเป็นที่อยู่ของเหล่าบรรดาชาวจีนภายใต้การดูแลของพระยาราชาเศรษฐี จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายชาวจีนเหล่านี้ไปตั้งหลักแหล่งใหม่ ณ บริเวณที่สวนตั้งแต่คลองวัดสามปลื้ม (วัดจักรวรรดิ์ ฯ) ถึงคลองวัดสามเพ็ง (วัดสัมพันธวงศ์) ปัจจุบันคือเยาวราช โดยโปรดเกล้าฯ ให้พระยาธรรมาธิกรณ์และพระยาวิจิตรนาวี เป็นแม่กองในการก่อสร้างพระบรมมหาราชวัง และในวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๒๕ เวลา ๖ นาฬิกา ๒๔ นาที อันเป็นมงคลฤกษ์ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคจากพระราชวังกรุงธนบุรี ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามายังพระบรมมหาราชวัง ทรงประกอบพระราชพิธีปราบดาภิเษก และเฉลิมพระราชมณเฑียร พระบรมมหาราชวังเมื่อแรกสร้างมีเนื้อที่ ๑๓๒ ไร่ แต่ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงเห็นว่าเขตพระราชฐานชั้นใน ซึ่งเป็นที่ประทับสำหรับพระมเหสี พระราชเทวี เจ้าจอมและเจ้านายฝ่ายในมีความคับแคบ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ขยายเนื้อที่ด้านทิศใต้ออกไปทางถนนท้ายวัง เพิ่มขึ้นอีก ๒๐ ไร่ ๒ งาน รวมมีเนื้อที่ทั้งสิ้น ๑๕๒ ไร่ ๒ งาน โดยแบ่งเขตออกเป็น ๓ ส่วน
จากนั้นมัคคุเทศก์จะพาท่านไปยังวัดอรุณราชวนาราม
วัดอรุณราชวราราม หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า วัดอรุณ เป็นวัดโบราณ สร้างในสมัยอยุธยา ที่ชื่อวัดแจ้ง เพราะ พระเจ้าตากฯ ทำศึกเสร็จ แล้วยกทัพกลับมาเป็นเวลาเช้าพอดี ว่ากันว่าเดิมเรียกว่า วัดมะกอก และกลายเป็นวัดมะกอกนอกในเวลาต่อมา เพราะได้มีการสร้างวัดขึ้นอีกวัดหนึ่งในตำบลเดียวกัน แต่อยู่ในคลองบางกอกใหญ่ ชาวบ้านเรียกวัดที่สร้างใหม่ว่า วัดมะกอกใน (วัดนวลนรดิศ) แล้วจึงเรียกวัดมะกอกซึ่งอยู่ปากคลองบางกอกใหญ่ว่า วัดมะกอกนอก ส่วนเหตุที่มีการเปลี่ยนชื่อเป็นวัดแจ้งนั้น เชื่อกันว่า เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงตั้งราชธานีที่กรุงธนบุรีใน พ.ศ. 2310 ได้เสด็จมาถึงหน้าวัดนี้ตอนรุ่งแจ้ง จึงพระราชทานชื่อใหม่ว่าวัดแจ้ง
วัดอรุณราชวรารามเมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังที่ประทับนั้น ทรงเอาป้อมวิชัยประสิทธิ์ข้างฝั่งตะวันตกเป็นที่ตั้งตัวพระราชวัง แล้วขยายเขตพระราชฐานจนวัดแจ้งเป็นวัดภายในพระราชวัง เช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์สมัยอยุธยา และเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรที่อัญเชิญมาจากเวียงจันทน์ใน พ.ศ. 2321 ก่อนที่จะย้ายมาประดิษฐานที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามในปี พ.ศ. 2327
วัดอรุณราชวราราม
ในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ได้เสด็จมาประทับที่พระราชวังเดิม และได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดแจ้งใหม่ทั้งวัด แต่ยังไม่ทันสำเร็จก็สิ้นรัชกาลที่ 1 สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระองค์ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดแจ้งต่อมา และพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดอรุณราชธาราม” ต่อมามีพระราชดำริที่จะเสริมสร้างพระปรางค์หน้าวัดให้สูงขึ้น แต่สิ้นรัชกาลเสียก่อน จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เสริมพระปรางค์ขึ้นและให้ยืมมงกุฎที่หล่อสำหรับพระพุทธรูปทรงเครื่องที่จะเป็นพระประธานวัดนางนองมาติดต่อบนยอดนภศูล ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดอรุณราชธารามหลายรายการ และให้อัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมาบรรจุไว้ที่พระพุทธอาสน์ของพระประธานในพระอุโบสถด้วย เมื่อการปฏิสังขรณ์เสร็จสิ้นลง พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดอรุณราชวราราม"
หลังจากการเที่ยวชมวัดอรุณเรียบร้อยแล้ว มัคคุเทศก์จะส่งท่านที่ท่าเรือวัดอรุณ ก็เป็นอันเสร็จสิ้นโปรแกรมทัวร์
กำหนดเวลารอบโปรแกรมทัวร์เวลาเริ่มทัวร์ 8:30 / 9:30 / 10:30 / 11:30 / 12:30 / 13:30 / 14:30
*โปรแกรมทัวร์ขึ้นอยู่กับ เวลาและตารางเวลา อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้*